โทรศัพท์: 035-248000 ต่อ 8176 | อีเมล: [email protected]

  • ชื่อเรื่องภาษาไทย
    การวิพากษ์เชิงเปรียบเทียบแนวคิดการกระทําเพื่อหน้าที่ ในภควัทคีตากับจริยศาสตร์ของค้านท์
  • ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษThe Comparative critique in the concept of action for duty in Bhagavad Gita and Kant's Ethics
  • ผู้วิจัยนายอนุชา แสนยั่งยืน ปริญญา
  • ที่ปรึกษา 1พระมหากฤษณะ ตรุโณ , ผศ.ดร.
  • ที่ปรึกษา 2ผศ.ดร. ณัทธีร์ ศรีดี
  • วันสำเร็จการศึกษา27/08/2014
  • ส่วนงานจัดการศึกษา:
  • ชื่อปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พธ.ม.)
  • ระดับปริญญาปริญญาโท
  • สาขาวิชาปรัชญา
  • URI http://e-thesis.iteam.co.th/thesis/2025
  • ปรากฏในหมวดหมู่วิทยานิพนธ์
  • ดาวน์โหลด 524
  • จำนวนผู้เข้าชม 379

บทคัดย่อภาษาไทย

   วิทยานิพนธ์เรื่องการวิพากษ์เชิงเปรียบเทียบแนวคิดการกระทำเพื่อหน้าที่ในภควัทคีตา กับจริยศาสตร์ของค้านท์ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาแนวคิดการกระทำเพื่อหน้าที่ในคัมภีร์ภควัทคีตา 2) เพื่อศึกษาแนวคิดการกระทำเพื่อหน้าที่ในจริยศาสตร์ของค้านท์ 3) เพื่อวิพากษ์เปรียบเทียบแนวคิดการกระทำเพื่อหน้าที่ในภควัทคีตาและ จริยศาสตร์ของค้านท์  จากการศึกษาพบว่า

   1. แนวคิดการกระทำเพื่อหน้าที่ในภควัทคีตา พบว่า การกระทำเพื่อหน้าที่เป็นการทำในสิ่งที่ต้องกระทำโดยมีหลักการ คือ กระทำด้วยการใช้ปัญญาแล้วสละผลการกระทำอุทิศแด่พระเจ้า เพื่อแสดงความภักดีต่อพระเจ้า ภควัทคีตาให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ของวรรณะ เพราะเชื่อว่าพระเจ้า กำหนดมาแล้ว และมนุษย์ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะไม่กระทำตามพันธะหน้าที่ได้ การทำหน้าที่ของวรรณะก็ถือว่าเป็นความดี เพราะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคม และผู้กระทำหน้าที่ด้วยความปล่อยวางจากผลประโยชน์ มีปัญญารู้แจ้งในการกระทำมีความภักดีต่อพระเจ้าอย่างสูงสุด จะสามารถเข้าถึงพระเจ้าหรือบรรลุโมกษะได้

   2. แนวคิดการกระทำเพื่อหน้าที่ของค้านท์ พบว่า การกระทำเพื่อหน้าที่เป็นการกระทำที่มีค่า ทางศีล ธรรม เนื่องจากเป็นการทำโดยปราศจากแรงโน้มของอารมณ์ความรู้สึกความปรารถนาหรือแม้ แต่ผลของการกระทำ  ค้านท์เชื่อว่าความดีที่มีค่าทางศีลธรรมนั้นเป็นความจริงและตายตัวการกระทำที่ผิดศีลธรรมจะไม่กลายเป็นถูกไปได้เพียงเพราะว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นถูก หรือเพราะผลที่เกิดขึ้นเป็นประ โยชน์กับคนส่วนใหญ่ ความดีไม่ขึ้นกับเงื่อนไขใด  การกระทำเพื่อหน้าที่นำไปสู่ชีวิตที่มีศีลธรรมในโลกจริงแท้ได้  เพราะเป็นการกระทำจากสำนึกในหน้าที่ เมื่อทำโดยสำนึกในหน้าที่ได้ย่อมแสดงว่ามนุษย์กำลังใช้เหตุผล เมื่อมนุษย์ใช้เหตุผลก็ย่อมมีปัญญาที่สามารถฝืนแรงโน้มของอารมณ์ ความรู้สึก ความปรารถนาได้ เมื่อฝืนแรงโน้มได้มนุษย์ก็จะหลุดพ้นจากอิทธิพลของเหตุวิสัย เป็นอิสระจากโลกปรากฏและมาสู่ชีวิตศีลธรรมในโลกจริงแท้

  3. การวิพากษ์เปรียบเทียบแนวคิดการกระทำเพื่อหน้าที่ในภควัทคีตากับจริยศาสตร์ของค้านท์ พบว่า แนวคิดในภควัทคีตามีข้อเสนอเรื่องวรรณะและหน้าที่ของวรรณะ จึงทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในสังคม และข้อเสนอว่ามนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงการกระทำตามพันธะหน้าที่ที่พระเจ้ากำหนดไปได้ ก็ย่อมทำให้มนุษย์ไม่อาจเป็นอิสระได้ นอกจากนี้การกระทำเพื่อหน้าที่ตามนัยยะของการกระทำเพื่อพระ เจ้าอาจไม่ใช่คุณค่าที่บริสุทธิ์เสมอไปก็ได้ ถ้าผู้กระทำยังปรารถนาให้พระเจ้ารับรู้หรือประทานบำเหน็จตอบแทนการกระทำ อย่างไรก็ตาม แนวคิดการกระทำเพื่อหน้าที่ในภควัทคีตา แม้จะเป็นทางออกสำ    หรับแก้ปัญหาความสับสนในใจของมนุษย์ เมื่อต้องกระทำสิ่งที่ขัดแย้งทางศีลธรรมได้ แต่มีขอบเขตเพียงหน้าที่ของวรรณะเท่านั้น จึงทำให้เป็นความคิดที่ไม่เปิดกว้างเท่าที่ควร และข้อเสนอว่าการทำหน้าที่ของวรรณะเป็นการกระทำที่ถูกต้องชอบธรรม แม้จะฆ่าคนทั้งโลกก็ถือว่าไม่ได้ฆ่าใคร แม้ทำบาปพระเจ้าก็จะปลดเปลื้องผู้นั้นจากบาป ก็อาจเป็นการสนับสนุนให้เกิดการใช้ความรุนแรงในสังคมขึ้นได้ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ประสงค์ดีนำวจนะของพระเจ้ามาแอบอ้างใช้ เพื่อประโยชน์ของตัวเองได้

   สำหรับแนวคิดการกระทำเพื่อหน้าที่ของค้านท์ แม้ทำให้เกิดความเสมอภาคในสังคมได้ แต่การปฏิเสธการกระทำที่มาจากความเมตตาว่าไม่มี คุณค่าทางศีลธรรมเลยนั้น ก็ทำให้ขัดแย้งกับสามัญ สำนึกของปุถุชนเช่นกัน และข้อเสนอว่าถ้ามนุษย์กระทำโดยใช้สำนึกในหน้าที่ได้มนุษย์ก็จะเป็นอิสระไปสู่ชีวิตที่มีศีลธรรมได้ แต่เมื่อเป็นอิสระแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีความเห็นที่เหมือนกันทั้ง หมดไปได้ นอกจากนี้การกระทำโดยใช้สำนึกในหน้าที่แม้เชื่อว่าบริสุทธิ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการกระทำที่ถูกต้องเสมอไป เพราะยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากเกณฑ์วัดทางศีลธรรมที่ทุกคนยอมรับร่วมกันเป็นสากลเสีย ก่อน อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่มีปัญหาความขัดแย้งทางศีลธรรมแนว คิดการกระทำเพื่อหน้าที่ของค้านท์ ไม่สามารถแก้ปัญหาในสถานการณ์นี้ได้ เพราะยึดถือความดีว่าต้องเป็นจริงแท้อย่างเป็นกฏสัมบูรณ์ ไม่มีการยืดหยุ่น จึงทำให้เป็นเงื่อนไขที่รัดตรึงหลักการของตัวเองจนไม่สามารถหาทางออกได้

บทคัดย่อภาษาอังกฤษ

   This study aims to examine the comparative critique in the concept of action for duty in Bhagavad Gita and Kant's Ethics. In this study, there are mainly 3 purposes. First, to investigate the concept of action for duty in the Bhagavad Gita. Second, to understand the concept of action for duty in Kant's Ethics. Third, to compare the critical concepts of the duty both Bhagavad Gita and Kant's Ethics. The data of this research are wholly related to the matter in these scriptures. In this research, there are essentially 3 findings.

1. In Bhagavad Gita, the concept of duty action should be practiced considering with the wisdom and devotion to God. Bhagavad Gita also focuses on the caste because of God. Consequently, human being cannot avoid their destiny. Moreover, respecting the caste is a good behavior, because it is the favorable benefit in society. To reach the enlightenment, the actors must supremely release their own desires and passions.

2. In Kant's Ethics, the concept of duty action has realized the moral values. This concept has been significantly perceived by the actions without emotional desires and passions. In Kant's Ethics, it is believed the moral values are the truth and static matter. The immoral actions become invalid, even if the result is correct as well as beneficial. Without any conditions, goodness is independent. The action for duty leads to the absolute morals because of conscious actions. This action has performed the human reasoning. Reason thus can resist the gravity of emotions and desires. Human can release themselves via this moral influence.

3. For the critical comparison between Bhagavad Gita and Kant's Ethics, there are some proposals and duties on caste. In Bhagavad Gita, the proposal and duty have shown the inequality in society. Human beings cannot avoid fulfilling the obligations on God. Therefore, actors look dependent. Additionally, the duty action without sincerity might not the pure moral values if actors pray for their own desires and passions. Many advantageous solutions are founded in this Holy Scripture. Nevertheless, there are still some limitations, especially the duty of caste. It becomes narrow. Besides, respecting the action of caste is a pleasing thing even killing the whole people in the world. It seems to be a suitable policy because of God. God could probably forgive all sins which lead to the severe violence in society. As a result, it can bring the wrong concept and misunderstanding even if these refer to God.

In contrast, Kant's Ethics realize the equality in society. Some moral values, like the rejection of generous action, may conflict with the common sense. Human can set them free if they perform all actions throughout the sense of duty. The freedom is unique; so human has got freedom in their own way. The actions which are consisted of the sense of duty seem to be pure and significant; but these actions are not always valid. It is necessary to be justified and investigated by the universal moral values. In some moral dilemmas, Kant's Ethics cannot certainly find out any moral crisis because of the absolute rule. For this reason, some conditions are too strict to practice the action regularly and to solve the problem absolutely.

รายการไฟล์

ชื่อ ไฟล์ ขนาด ประเภทไฟล์ ดาวน์โหลด วันที่ทำรายการ
Full Text Full Text.pdf 1.29 MiB 524 7 ส.ค. 2564 เวลา 08:04 น. ดาวน์โหลด